วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ไตรกลีเซอไรด์และเอชดีแอล

ไตรกลีเซอไรด์และเอชดีแอล
จากการศึกษา InterHeart ในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจาก 52 ประเทศ พบว่า คอเลสเตอรอล แอลดีแอลในเลือดที่สูง และ/หรือเอชดีแอลที่ต่ำ เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจจะมากกว่าเบาหวาน ความดันโลหิตสูง บุหรี่ และความอ้วน เสียอีก
การตรวจไขมันในเลือดผิดปกติ ตรวจหาอะไร
เวลาจะตรวจไขมันว่าผิดปกติหรือไม่ มักจะถูกเจาะเลือดส่งไปตรวจระดับไขมันในเลือด 3 ชนิด คือ
คอเลสเตอรอล (ชื่อเต็มคือคอเลสเตอรอลรวม total cholesterol)
ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride หรือ ชื่อเดิม ไตรเอซีลกลีเซอรัล)
เอชดีแอล (ชื่อเต็มคือ เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล high density lipoprotein cholesterol: HDL-cholesterol หรือ HDL-C)
จากนั้นนำค่าไขมันทั้ง 3 ไปคำนวณหาค่าแอลดีแอล (ชื่อเต็มคือแอลดีแอล-คอเลสเตอรอล low density lipoprotein cholesterol: LDL cholesterol หรือ LDL-C) ถ้าค่าไตรกลีเซอไรด์ไม่สูงเกิน 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
สถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการบางแห่งสามารถตรวจค่าแอลดีแอลได้โดยตรง (direct LDL-C) ก็ไม่ต้องเสียเวลามาคำนวณ และไม่ต้องตรวจคอเลสเตอรอลรวม แต่จะเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าการคำนวณ
กรณีที่ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก็ให้ตรวจแอลดีแอลโดยตรงแทน
รู้ค่าไขมันในเลือดไปทำไม
รู้หรือไม่ว่าไขมันในเลือดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยล้มตายของคนไทย และเพื่อนร่วมโลกของพวกเราอย่างไรบ้าง
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน: กล้ามเนื้อหัวใจตาย - หัวใจขาดเลือด
โรคหลอดเลือดสมองตีบ-ตัน-แตก: อัมพฤกษ์ - อัมพาต
โรคมะเร็ง
โรคที่มากับเบาหวาน
โรคที่มากับความดันโลหิตสูง
โรคที่มากับไขมันผิดปกติ
โรคที่มากับความอ้วน
โรคที่มากับการสูบบุหรี่
เป็นต้นเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้คนไทยและชาวโลกป่วยและตายมากที่สุด
โรคเหล่านี้ รวมเรียกว่า "โรคร้ายแห่งการพอกพูนสะสม" เพราะพอกพูนสะสมในหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หรืออวัยวะต่างๆ จนเกิดโรค
"เบาหวาน ความดันฯ ไขมัน บุหรี่ อ้วนพีมีพุง" ตัวมันเองมักไม่ค่อยมีอาการอะไร แต่นำไปสู่โรคหลอดเลือดแดงตีบ-ตัน-แตก ที่หัวใจ สมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยล้มตายมากที่สุดของเมืองไทยและของโลก
ไขมันผิดปกติจึงเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยหลักของการเกิดโรคร้ายแห่งการพอกพูนสะสมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมถึง โรคมะเร็งบางชนิดด้วย
การเจาะเลือดตรวจระดับไขมันคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อหลอดเลือดแดง เพราะถ้ามีมากเกินไปจะรวมกันในรูปของสารลำเลียงไขมันที่เรียกว่า แอลดีแอล ซึ่งจะไปพอกพูนสะสมในหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบตัน
คอเลสเตอรอลเปรียบเสมือนวัตถุดิบในการทำงานของร่างกาย แต่ถ้ามีมากจนเกินไปในเลือด เนื่องจากไม่ได้ใช้ หรือใช้ไม่หมดก็จะกลายเป็นขยะ เก็บอยู่ในเรือดำน้ำขนาดกลางคือ แอลดีแอล ซึ่งจะนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินนี้ไปสะสมเรี่ยราด ตามหลอดเลือดแดง จนตีบตัน
เอชดีแอลเป็นไขมันที่ดี เพราะถ้ามีมากจะช่วยนำไขมันคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป กลับไปทิ้งที่ตับ
เอชดีแอลจึงเปรียบเสมือนเรือดำน้ำขนขยะขนาดจิ๋ว ถ้ายิ่งมีมากก็ยิ่งดี จะช่วยขนขยะคอเลสเตอรอล ไม่ให้ไปพอกพูนที่หลอดเลือดแดง
ส่วนระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเป็นไขมันที่ไม่ดี เพราะถ้ามากเกินไปจะทำให้เอชดีแอลในเลือดต่ำลง แต่ถ้าไตรกลีเซอไรด์ต่ำลงเอชดีแอลจะสูงขึ้น
ไตรกลีเซอไรด์ จึงเปรียบเสมือนโซ่ล่ามเรือดำน้ำขนขยะ ซึ่งคอยล่ามเรือดำน้ำขนขยะขนาดจิ๋ว (เอชดีแอล) ไว้ในเรือดำน้ำขนาดใหญ่ ไม่ให้ออกมาขนขยะ
ถ้ามีโซ่ล่ามนี้มากก็เก็บเรือขนขยะเอาไว้ ไม่ให้ออกมาทำงานขนขยะคอเลสเตอรอล เรือขนขยะหรือเอชดีแอลในเลือดก็จะน้อยลง ถ้าโซ่ล่ามมีน้อย เรือดำน้ำขนขยะเอชดีแอลจะมีมากในกระแสเลือด
แล้วไขมันในเลือดตัวไหนสำคัญกว่ากัน
สำหรับคนไทยในเมืองที่ยังไม่เป็นโรคร้ายแห่งการพอกพูนสะสม เอชดีแอลสำคัญกว่า คอเลสเตอรอล แอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ เพราะเอชดีแอลต่ำลง จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิต และเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และเอชดีแอลที่สูงขึ้นจะลดโอกาสเสียชีวิต และเกิดโรคดังกล่าว
แต่คอเลสเตอรอล แอลดีแอล ไตรกลีเซอไรด์ที่สูง เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสียชีวิต หรือเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองในคนไทย น้อยกว่าเอชดีแอล
เมื่อไหร่จึงควรไปตรวจไขมันในเลือด
ผู้ใหญ่ทุกคนควรไปตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เมื่อมีข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อต่อไปนี้
1. ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis)
เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรือตัน ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (ที่ไปเลี้ยงแขนขา) อุดตัน อาจมีอาการเดินไประยะหนึ่งจะปวดน่อง ปวดต้นขา พักแล้วหาย เดินต่อระยะเท่าเดิมก็ปวดอีก หรือคลำชีพจรที่เท้าไม่ได้ หรือเบาลงกว่าที่แขน
2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือด แดงแข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
♦ เป็นเบาหวาน หรือกำลังกินยารักษาเบาหวานอยู่
♦ เป็นความดันโลหิตสูง หรือกำลังกินยารักษาความดันโลหิตสูงอยู่
♦ สูบบุหรี่ (รวมทั้งผู้ที่ต้องดมควันบุหรี่เป็นประจำ)
♦ มีประวัติครอบครัว หรือมีญาติใกล้ชิด เสียชีวิตหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดแดงแข็ง (ในข้อ๑) เช่น หมอบอกว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือเคยผ่าตัดต่อหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส) หรือเคยขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน ใส่ขดลวดที่หลอดเลือดหัวใจ หรือเคยเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น โดยถ้าเป็นญาติฝ่ายชายเป็นโรคดังกล่าวเมื่ออายุน้อยกว่า 55 ปี หรือเป็นญาติฝ่ายหญิง เป็นเมื่ออายุน้อยกว่า 65 ปี (เพราะเป็นโรคตอนอายุน้อยกว่าปกติที่ควรจะเป็น น่าจะมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์)
♦ หญิงวัยหมดประจำเดือน และมีปัจจัยเสี่ยง อื่นอย่างน้อย 1 ข้อข้างต้น
3. โรคที่ทำให้ไขมันในเลือดผิดปกติ
♦ โรคไตวายเรื้อรัง
♦โรคอ้วนพีมีพุง เมื่อมี 3 ใน 5 ข้อต่อไปนี้
- วัดรอบเอวเกินกว่า 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 32 นิ้วหรือ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง
- ความดันโลหิตสูงกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
- น้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังงดอาหาร เครื่องดื่มมากกว่า 8 ชั่วโมง
- ไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- เอชดีแอลต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย ต่ำกว่า 50 ในผู้หญิง
♦ โรคเบาหวาน
♦ โรคไทรอยด์ทำงานต่ำ
♦ โรคตับ
♦ ยา เช่น กลุ่มสเตียรอยด์ (มักผสมในยาชุด)
4. มีลักษณะที่สงสัยว่ามีไขมันในเลือดสูง
มีก้อนไขมันที่บริเวณเส้นเอ็นร้อยหวาย ด้านหลังของข้อเท้า (เอ็นร้อยหวายมีขนาดโตกว่าปกติ) หรือมีก้อนไขมันเล็กๆ อยู่ใต้ผิวหนังคล้ายสิวที่หลัง และบริเวณสะโพก
ส่วนคนที่ไม่เข้าข่ายทั้ง 4 ข้อข้างต้นนั้น ไม่มีอาการและไม่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรจะตรวจ ไขมันในเลือดหรือไม่ ก็ขึ้นกับว่ามีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นมากหรือไม่ ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ยิ่งควรไปตรวจ
ถ้าอาศัยอยู่ในเขตเมือง อายุมากกว่า 35 ปี ก็ควรจะตรวจไขมันในเลือด แต่ไม่ต้องตรวจทุกปีก็ได้ ถ้าไขมันในเลือดปกติ ควรตรวจซ้ำทุก 5 ปี ถ้าผิดปกติ ควรปรับเปลี่ยนการกินอยู่ให้สมดุล ประมาณ 3 ถึง 6 เดือน แล้วตรวจเลือดซ้ำ
ตรวจไขมันตัวไหนดี หรือตรวจทุกตัวเลยดีไหม
ถ้ามีข้อบ่งชี้ ตาม 4 ข้อข้างต้น จะต้องงดอาหาร งดเครื่องดื่ม (อาจจิบน้ำเปล่าเล็กน้อยได้) นานกว่า 12 ชั่วโมง เช่น งดอาหาร งดเครื่องดื่มตั้งแต่ 2 ทุ่ม แล้วได้เจาะเลือดตรวจไขมันในเลือด หลัง 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
เพราะการตรวจไตรกลีเซอไรด์ในเลือดจะต้องงดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง มิฉะนั้น ค่าที่ได้จะสูงเกินไป และบางครั้งแปลผลไม่ได้
ตรวจครบชุด หาทั้งค่าคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอล แล้วคำนวณหาค่าแอลดีแอล (กรณีที่ไตรกลีเซอไรด์ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ก็เป็นอันเสร็จพิธี
แต่ถ้าไม่ได้งดอาหารหรือไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป ก็แนะนำให้เจาะเลือดตรวจเฉพาะคอเลสเตอรอล และเอชดีแอล
ส่วนผู้ที่เข้าข่าย "ผู้ต้องสงสัย" จะมีภาวะ "อ้วนพีมีพุง" คือวัดรอบเอวได้มากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง และความดันเลือดตัวบนสูงกว่า 130 และ/หรือตัวล่างสูงกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท
ก็ควรจะงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อเจาะเลือดตรวจหาไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอล พร้อมทั้งแถมเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดด้วย
ถ้าท่านมีรอบเอวที่เกินกำหนดดังกล่าว และ มี 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้คือ
1. ความดันเลือดตัวบนเฉลี่ยสูงกว่า 130 และ/ หรือตัวล่างเฉลี่ยสูงกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท
2. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หลังงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง)
3. ไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ในเลือดน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 ในผู้หญิง
4. น้ำตาลในเลือดสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หลังงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง)
การอยู่ในภาวะ "อ้วนพีมีพุง" "อ้วนลงพุง" "ว่าที่เบาหวาน" หรือ "ว่าที่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ" แล้วแต่จะชอบคำไหน เพราะภาวะดังกล่าวเพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานหลายเท่า และเพิ่มโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน 1.7 ถึง 4.9 เท่า
กลุ่มอาการอ้วนพีมีพุง หรืออ้วนลงพุง เรียกเล่นๆว่า โรค เอว-มัน-ดัน-หวาน หรือโรคเอวหวาน เป็นโรคที่เกิดก่อนจะเป็นโรคเบาหวาน
วิธีจำเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเอว-มัน-ดัน-หวาน ง่ายๆ คือ
1. รอบเอวเกิน 80 เซนติเมตรในผู้หญิง 90 เซนติเมตรในผู้ชาย
2. ไขมันไตรกลีเซอไรด์เกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
3. ไขมันดี เอชดีแอล น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
4. ความดันโลหิตสูงเกิน 130/85 มิลลิเมตรปรอท
5. หวานเกิน น้ำตาลในเลือดเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ใช้เกณฑ์รอบเอวเกิน บวก 2 ใน 4 ข้อที่เหลือ หรือเกณฑ์ 3 ใน 5 ข้อก็ได้
วิธีจำตัวเลขง่ายๆ เป็นชุดๆ คือ 40 / 50, 80 / 90, 100 / 130 / 150
40 / 50 คือ เอชดีแอล ชายน้อยกว่า 40 หญิงน้อยกว่า 50
80 / 90 คือ รอบเอวหญิง เกิน 80 เซนติเมตร ชายเกิน 90 เซนติเมตร
100 / 130 / 150 คือ น้ำตาลในเลือด เกิน 100 ความดันโลหิตเกิน 130 และ ไตรกลีเซอไรด์เกิน 150
ดังนั้น ถ้าจะตรวจสุขภาพ ให้คุ้มค่าได้ประโยชน์ ก็ต้อง...
"ตรวจ" ทุกขภาพ เพื่อ "สร้าง" สุขภาพ
ไม่ใช่ "ตรวจ" สุขภาพ เพื่อ "สร้าง" ทุกขภาพ
ไขมัน น้ำมัน ของมันๆ ที่กินกันส่วนใหญ่เป็น ไตรกลีเซอไรด์
ไม่ว่าจะเป็นไขมันจากสัตว์ หรือพืช ประกอบด้วยสารไตรกลีเซอไรด์เกือบทั้งหมด ส่วนสัตว์จะมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นในเซลล์ของสัตว์ทุกชนิด ทั้งเนื้อ ไขมัน หนัง เครื่องใน หรือน้ำมัน
ไขมัน น้ำมันจากพืช ตัวมันเองมีแต่ไตรกลีเซอไรด์ ไม่มีคอเลสเตอรอล
ไขมันจากสัตว์ มีทั้ง ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอล
ไตรกลีเซอไรด์ คือกลีเซอไรด์ 3 สายมารวมกัน (ไตร แปลว่า 3) และกลีเซอไรด์แต่ละสายประกอบด้วยกลีเซอรัลและกรดไขมัน
กรดไขมัน ก็อยู่ในไขมันจากสัตว์และพืชส่วนใหญ่ที่กินกันทั่วไป
ไขมันที่กินส่วนใหญ่เป็นไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งร่างกายต้องการมากกว่า 100 กรัมต่อวัน เพื่อให้ได้กรดไขมันที่ร่างกายต้องใช้ประโยชน์ ใช้เป็นพลังงาน และได้วิตามินที่ละลายในไขมันคือ วิตามินเอ ดี อี และ เค
แต่ถ้ามากเกินไป จนสะสมอ้วนพีมีพุง ก็จะเกิดโทษ ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง กรดไขมันมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะต้านอินซูลิน หรือดื้ออินซูลิน (สารอินซูลิน ที่ตับอ่อนสร้างขึ้นมา ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ที่ตับและกล้ามเนื้อ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และเป็นเบาหวานตามมาได้)
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (เจาะตรวจหลังงดอาหาร และเครื่องดื่มนานกว่า 12 ชั่วโมง เช่นงดอาหาร เครื่องดื่มทุกขนิดหลัง 2 ทุ่ม และเจาะเลือดหลัง 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น)
ค่าระดับไตรกลีเซอไรด์ปกติ ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ค่าที่อยู่ระหว่าง 150 ถึง 199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าค่อนข้างสูง
ไตรกลีเซอไรด์สูง เมื่อมีระดับในเลือดระหว่าง 200 ถึง 499 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ถ้าระดับสูงกว่า 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก
เอช "ดี" แอล ดีสมชื่อ
เอชดีแอล หรือชื่อเต็มว่า เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล (high density lipoprotein Cholesterol: HDL-C) เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นมา หากินจากอาหารไม่ได้ (แปลว่าไม่มีอาหารที่มีเอชดีแอลสูง กินแล้วไปเพิ่มเอชดีแอลในเลือดเราให้สูงขึ้น)
ดังนั้น อย่าไปเชื่อว่าจะมีอาหารเสริมอะไรที่มีเอชดีแอลมาก กินแล้วเพิ่มเอชดีแอล
หน้าที่ของเอชดีแอล คือไปนำเอาคอเลสเตอรอลส่วนเกินที่ร่างกายใช้ไม่หมด ไปสะสมเรี่ยราดตามอวัยวะ และหลอดเลือดแดงกลับไปที่ตับ ขับออกเป็นน้ำดีลงสู่ลำไส้ ออกจากร่างกายทางอุจจาระ
เอชดีแอลจึงเปรียบเหมือนรถขนขยะคอเลสเตอรอลไปทิ้ง ยิ่งมีมาก ระดับยิ่งสูงในเลือด ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้คอเลสเตอรอล โดยเฉพาะ แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล (ไขมันไม่ดีถ้ามากเกิน) ไปพอกพูนสะสมในหลอดเลือด
นอกจากนี้ เอชดีแอลยังมีโปรตีนที่สามารถจับกับสารพิษของเชื้อโรคหรือแบคทีเรียเอนโดท็อกซิน ทำให้เชื้อโรคแบคทีเรียถูกร่างกายกำจัดได้ง่าย
ดังนั้น เอชดีแอลที่สูงก็ช่วยป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้อีกด้วย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมคนเป็นเบาหวานมักจะมีเอชดีแอลที่ต่ำ และติดเชื้อง่าย
เอชดีแอล นอกจากจะเป็น "รถขนขยะ" ทั้งคอเลสเตอรอล และขนแบคทีเรีย เชื้อโรคไปทิ้ง/ถูกทำลายโดยเซลล์ตับ หรือเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย เอชดีแอลยังช่วยลดการอักเสบ ช่วยลดการเกาะกันเป็นลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง ลดการออกฤทธิ์ของสารอนุมูลอิสระ (ของเสียที่ร่างกายสร้างขึ้นมา) ลดการตายของเซลล์ต่างๆ อีกด้วย
ผลโดยรวมทั้งหมดนี้ ช่วยให้ลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน จนเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจขาดเลือด หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
ค่าเอชดีแอลในเลือดที่ควรเป็น "ยิ่งสูง ยิ่งดี" จริงหรือ
เอชดีแอลในเลือดที่ดีคือ
ผู้ชายสูงกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ผู้หญิงสูงกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ผู้ที่มีระดับเอชดีแอลต่ำกว่านี้ จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (โรคหัวใจขาดเลือด หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต) เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือขาดเลือด ยิ่งต่ำมาก ยิ่งเสี่ยงมาก
เอชดีแอลระดับต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าต่ำมาก ควรจะพบแพทย์หาสาเหตุ และรักษา เพื่อป้องกันโรคภัยที่จะเกิดตามมา
ระดับเอชดีแอลในเลือดที่สูงเกิน 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ทั้งชาย ทั้งหญิง) ถือว่าเป็นปัจจัยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้นจากคอเลสเตอรอล แอลดีแอล และไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่าปกติ
แต่ระดับเอชดีแอลที่สูงเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
การที่ร่างกายสร้างไขมันเอชดีแอลออกมามากเกินไป อาจเกิดจากการทำงานของเอชดีแอลที่น้อยลงกว่าปกติ จึงต้องสร้างออกมามากๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มีเอชดีแอลมากๆ แล้วจะช่วยขนคอเลสเตอรอลไปทิ้งได้มากขึ้นเสมอไป
ดังนั้น ระดับเอชดีแอลที่ควรจะเป็นในผู้ชาย ควรอยู่ระหว่าง 40 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้หญิงควรอยู่ระหว่าง 50 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ดีที่สุดคือ อยู่ในระดับ 60 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรทั้งชายและหญิง
เพราะโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำที่สุด
สาเหตุที่ทำให้เอชดีแอลต่ำลง
อ้วนพุงยื่น โดยเฉพาะไขมันสะสมมากที่พุง และอวัยวะภายในช่องท้อง
ภาวะดื้ออินซูลิน หรือต้านอินซูลิน (อินซูลินที่สร้างจากตับอ่อน ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปเผาผลาญ เป็นพลังงานที่ตับ และกล้ามเนื้อ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง และเอชดีแอลต่ำลง เพิ่มโอกาสเป็นโรคเบาหวานตามมา)
กลุ่มอาการอ้วนพีมีพุง (เอว-มัน-ดัน-หวาน) มีภาวะอ้วนลงพุง ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เอชดีแอลต่ำ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง (หวาน) และภาวะดื้ออินซูลิน
เบาหวาน (น้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ทำให้ไตรกลีเซอไรด์สูง เอชดีแอลต่ำลง)
ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (ทำให้เอชดีแอลมีขนาดเล็กลง ถูกขับถ่าย หรือทำลายได้ง่ายขึ้น เอชดีแอลในเลือดจึงต่ำลง ตรงข้ามกับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้น )
กินอาหารไขมันต่ำมากเกินไป หรือกินยาลดไขมันบางชนิด ทำให้คอเลสเตอรอลรวม ซึ่งมีทั้งแอลดีแอลคอเลสเตอรอล และเอชดีแอล-คอเลสเตรอลลต่ำลงหมด นอกจากนี้ เมื่อคอเลสเตอรอลในเลือดไม่สูง แสดงว่าไม่มีคอเลสเตอรอลที่ใช้ไม่หมด หรือเหลือในร่างกาย ร่างกายก็ไม่ต้องสร้างเอชดีแอล เป็นรถขนขยะ ระดับเอชดีแอลก็ต่ำลง เวลาระดับคอเลสเตอรอลต่ำลง
ไตรกลีเซอไรด์สูง เอชดีแอลต่ำ
หลายๆ คนที่ได้ผลตรวจไขมัน เมื่อรู้ว่าไตรกลีเซอไรด์สูงไป เอชดีแอลต่ำไป ก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะ...
รู้สึกสบายดี ไม่มีอาการอะไรเลย
สูงอย่างนี้ ต่ำอย่างนี้ มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นจะเป็นไรเลย
ความจริง คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มักจะไม่มีอาการที่รู้สึกผิดปกติเลย ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง สูบบุหรี่ อ้วนพีมีพุง หรือแม้แต่โรคเบาหวาน น้ำตาลสูงไม่มากนัก ก็อาจไม่มีอาการผิดปกติอะไร
เกินครึ่งของคนไทยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันผิดปกติ (คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์สูง เอชดีแอลต่ำ) ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นมาก่อน
"ไม่ตรวจ ก็ไม่รู้ ต้องมาตรวจถึงจะรู้"
จึงมีคนตั้งฉายาปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ว่า "ภัยมืด" บ้าง "ฆาตกรเงียบ" บ้าง เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนัก ถึงผลร้ายแรงที่จะตามมา และบอกให้รู้ว่า...
ไม่ต้องรอให้เกิดอาการ มิฉะนั้นจะสายเกินแก้ เพราะอาการแรกที่เกิดกับเรา อาจเป็นอาการหมดสติ เสียชิวิตเฉียบพลัน อัมพาต หรือกล้ามเนื้อ หัวใจตายก็ได้
ทุกครั้งที่เจาะเลือดตรวจไขมันในเลือด จำเป็นต้องได้รับประโยชน์จากการตรวจให้เต็มที่ โดยตระหนักถึงความผิดปกติของไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล แอลดีแอล ไตรกลีเซอไรด์ สูงกว่าปกติ และ/หรือเอชดี-แอล ต่ำกว่าปกติ) ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งในการทำให้ชีวิตเราสั้นลง เกิดโรคร้ายแห่งการพอกพูนสะสมตามมาได้ ห้ามประมาท หรือไม่ใส่ใจในสัญญาณเตือนภัยนี้
ขณะเดียวกัน ก็จะต้องรู้ต่อว่าความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว มากน้อยเพียงใด และดูแลแก้ไข ผ่อนหนักเป็นเบา ผ่อนเบาเป็นหาย ได้อย่างไร


ด้วยความปรารถนาดีจาก 
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต 
#ProArgi9Plus
#Chlorophyll_Plus

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ภาวะไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูง  (Hypercholesterolemia)
     ภาวะไขมันในเลือดสูง นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดได้ นับเป็นโรคร้ายอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ประชากรเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ เราสามารถควบคุมและป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ไม่ยาก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้อย่างมาก
ชนิดของไขมันในเลือด
ไขมันในเลือดที่สำคัญมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ไขมันโคเลสเตอรอล (Cholesterol) และ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยทั่วไปในการตรวจไขมันในเลือดจะตรวจสารต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. โคเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้ขึ้นเองจากตับและลำไส้   หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป  อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ  แต่จะพบมากในไขมันสัตว์  ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร โคเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย  โดยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หามมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน  ซึ่งไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง  หลอดเลือดหัวใจ  ฯลฯ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือด  ในอนาคตจะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณโคเลสเตอรอล และ มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น  ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
เรายังแบ่งไขมันโคเลสเตอรอลได้ย่อยๆ  อีกที่สำคัญ 2 ชนิด คือ
  1.1  เอชดีแอล (High density lipoprotein-HDL) มีหน้าที่นำโครเลสเตอรอลจากกระแสเลือดไปทำลายที่ตับ ดังนั้นถ้าระดับ HDLในเลือดสูง จะทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยลง HDL จะสูงได้จากการออกกำลังกาย ระดับปกติในเลือดผู้ชายมากกว่า 40 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร
  1.2  แอลดีแอล (Low density lipoprotein-LDL) หากมีไขมันชนิดนี้ในเลือดสูง ก็จะไปเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดพอกหนาขึ้น จนความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป หลอดเลือดจะตีบแคบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่สะดวก จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก
ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 130 มิลลิกรัม /ต่อเดซิลิตร
2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายจากน้ำตาล และแป้งหรือ จากอาหารที่รับประทานเข้าไป  มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และ เค  ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องอยู่นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ อย่างไรก็ตาม การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงหรือพบว่าสูงในคนที่มี โคเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือดไม่ควรเกิน 150  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)
สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง
  - กรรมพันธุ์
  - การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
  - โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางอย่าง
  - โรคตับ โรคไตบางชนิด
  - ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนเพศ(ยาคุมกำเนิด) เป็นต้น
  - การตั้งครรภ์
  - การดื่มแอลกอฮอล์
  - ภาวะขาดการออกกำลังกาย
การตรวจ LDL-c สำคัญอย่างไร
        การตรวจค่า LDL-c สามารถบ่งชี้ถึงอันตรายและความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ(coronary heart disease, CHD) และสมอง ที่ส่งผลให้หัวใจขาดเลือดและเกิดอาการแสดงต่างๆ ตามมาจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการวัดค่า LDL-c และนำไปสู่การแก้ไขจึงเป็นเป้าหมายหลัก ในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง และเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างแรกในการลดระดับไขมันในเลือด
ตรวจบ่อยแค่ไหน
        การตรวจ LDL-c ควรเริ่มตรวจในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังตารางที่ 3 โดยทั่วไปในผู้ใหญ่สุขภาพดีตรวจทุก 5 ปี และควรติดตามผล LDL-c หลังจากนั้นขึ้นกับปริมาณที่วัดได้ และความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หากมีความเสี่ยงควรมีการตรวจติดตามประมาณทุกๆ ครึ่งเดือน ถึง 3 เดือน และขึ้นกับดุลพินิจการแพทย์ผู้รักษา
ค่า LDL-c แปลผลอย่างไร
        การวัดค่า LDL-c สามารถวัดได้จากการคำนวณ (calculated, calc.) จากผลของการวัดค่าไขมันทั้งหมด ที่ผ่านการงดอาหารก่อนเจาะเลือด 12 ชม. [สามารถทานน้ำได้ปกติ] คือ ไขมันรวม (total cholesterol: TC), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides:TG) และ ไขมันชนิดดี (high-density lipoprotein cholesterol: HDL-c) แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ค่าการตรวจไตรกลีเซอไรด์ ต้องไม่สูงเกินกว่า 400 mg/dL มิฉะนั้นผลการตรวจ LDL-c จากการคำนวณผิดพลาดได้ ซึ่งคำนวณจาก LDL = TC - (HDL + TG/5)
        แต่หากมีค่าไตรกลีเซอไรด์ สูงเกินกว่า 400 mg/dL หรือ ต้องการตรวจเฉพาะ LDL-c เท่านั้น สามารถตรวจได้โดยตรงที่เรียกว่า Direct-LDL-c โดยไม่ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือด
    
จะทำอย่างไรถ้าไขมันในเลือดสูง
          ถ้าตรวจพบว่าระดับไขมันในเลือดสูง ควรมีการควบคุมปริมาณไขมันในเลือด โดยการปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
  1. การควบคุมอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง เป็นต้น ควรจำกัดไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน (ดูจากตารางปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหารแต่ละชนิด)
  2. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนเกินไปโดยจำกัดอาหารประเภทแป้ง - ข้าวต่าง ๆ ขนมหวาน
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์เร่งการสะสมไขมันตามเนื้อเยื่อ
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เจียว ควรใช้น้ำมันจากพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันเมล็อดอกทานตะวัน ซึ่งมีกรดไลโนเลอิก เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญ ซึ่งจะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
  5. ควรเพิ่มอาหารพวกผักใบต่าง ๆ และผลไม้บางชนิดที่ให้ใยและกาก เช่น คะน้า ผักกาด ฝรั่ง ส้ม เม็ดแมงลัก และอื่น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น กากใยเหล่านี้จะช่วยในการดูดซึมของไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
  6. รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ธัยรอยด์ โรคตับ โรคไต และอื่น ๆ
  7. หยุดยาที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมันในเลือด หรือเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่น ๆ แล้วแต่ความเหมาะสม
  8. การออกกำลังกาย จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ครั้งละ 20 - 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง สำหรับการออกกำลังกายที่ดีที่สุดเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ คือ การเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ การขี่จักรยาน แต่ถ้ามีอาการของโรคหัวใจอยู่แล้ว หรือมีอายุมากกว่า 40 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนว่า การออกกำลังกายแบบใดจึงจะเหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์โดยไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ
  9. ใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด ซึ่งจะต้องใช้ร่วมกับการควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และลักษณะนิสัยในการดำเนินชีวิตของตนเองด้วยนะ

ด้วยความปรารถนาดีจาก 
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต 
#ProArgi9Plus
#Chlorophyll_Plus


วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เพชรฆาต...โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

เพชรฆาต…โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  หลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากการมีคอเลสเตอรอลไปสะสมตามผนังหลอดเลือด จนกลายเป็นคราบตะปุ่มตะป่ำ ทำให้หลอดเลือดหัวใจบริเวณนั้นคับแคบลง ส่งผลให้เลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ คราบไขมันที่อยู่ในหลอดเลือดนั้นมีลักษณะเหมือนแผล ร่างกายจึงพยายามปกปิดแผลด้วยการสร้าง “ฝา” แข็งขึ้นมาปิดไว้เหมือนสะเก็ดที่แผล หากคราบไขมันหยุดการเจริญเติบโต ฝานี้ก็จะปิดสนิท ก้อนไขมันจึงมีโอกาสแตกออกน้อย แต่ถ้าคราบไขมันยังหนาตัวขึ้นเรื่อยๆ ฝานี้ก็จะบางลงและเปราะแตกได้ง่าย ทำให้อนุภาคของไขมันที่อยู่ข้างในกระจายสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไปกระตุ้นกระบวนการแข็งตัวของเลือดในร่างกาย ทำให้เกิดลมเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้เกิดหัวใจพิบัติ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ที่ชายและหญิงในปัจจุบันพบว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” ในกลุ่มคนอายุ 35-45 ปี จำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากต้องดำเนินชีวิตแบบเร่งรีบ และพึ่งพาอาหารสำเร็จรูปที่มีไขมันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจึงไม่ได้เป็นโรคของผู้สูงอายุอีกต่อไป

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีอาการเป็นอย่างไร
     ในกรณีหลอดเลือดหัวใจตีบไม่มาก อาจจะไม่รู้สึกอาการใดๆ อาการต่างๆ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 75% อาทิ

- เจ็บหน้าอก รู้สึกปวด แน่น จุกเสียดบริเวณหน้าอก ลำคอ ท้องส่วนบน หรือต้นแขนในขณะเครียด หรือออกกำลัง เมื่อหยุดพักอาการมักจะดีขึ้น 

- หายใจไม่ทั่วท้อง อาการหายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย เกิดขึ้นได้ไม่ว่าขณะออกแรง พักผ่อนหรือนอนหลับ 

- บวม อาการบวมบริเวณข้อเท้า มักเกิดขึ้นในเวลาค่ำ 

- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว แรงหรือผิดจังหวะ 

- อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง เหนื่อยง่ายผิดปกติ

- เป็นลม หมดสติอย่างเฉียบพลัน หรือรู้สึกศีรษะเบาหวิว

แต่อย่างไรก็ตาม จากสถิติทางคลินิกพบว่าหัวใจพิบัติมักเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า โดยเฉพาะในผู้หญิง เจ้าตัวไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นโรคหัวใจ แต่อยู่ๆ ก็ล้มลง หายใจไม่ออก ต้องหามส่งโรงพยาบาล หรืออาจเสียชีวิตกระทันหัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงโชคร้ายกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจกลุ่มที่มีอาการเตือน ทำให้มีการรักษาและเอาใจใส่ตนเองได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยเสี่ยงที่คุณเปลี่ยนแปลงได้

     วิธีการดำเนินชีวิตมีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าคุณอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น กรรมพันธุ์ ประวัติครอบครัว อายุ เพศหรือเชื้อชาติ เป็นต้น แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันจะทำให้ลดความเสี่ยงได้ เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานผัก ผลไม้ ธัญพืชและเส้ยใยมากขึ้น ควบคุมน้ำหนัก ผ่อนคลายความเครียด

ข้อจำกัดของการทำบอลลูนและบายพาส
     เมื่อมีอาการแล้วไปพบแพทย์มักจะได้รับคำแนะนำให้ฉีดสี หากพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบ อาจให้ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหรือในกรณีที่มีอาการมาก ต้องผ่าตัดหัวใจทำบายพาส

     การทำบอลลูน คือ การสอดท่อที่มีบอลลูนเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจเพื่อเบียดให้ไขมันแบนลงไปติดที่ผนังหลอดเลือดหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไขมันในหลอดเลือดยังมีมากเท่าเดิมเพียงแต่ถูกเบียดให้แขนลงเท่านั้น หลอดเลือดของผู้ป่วยจึงมักจะกลับมาตีบใหม่ภายใน 3-6 เดือน ต้องทำบอลลูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันสูง โรคไต โอกาสมาตีบใหม่ก็จะเร็วขึ้น


ด้วยความปรารถนาดีจาก 
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต 
#ProArgi9Plus
#Chlorophyll_Plus

มารู้จัก "หลอดเลือดเชื่อมน้ำตาล" กันครับ

มารู้จัก "หลอดเลือดเชื่อมน้ำตาล" กันครับ . 

     กินหวานมาก กินแป้งมากเกินไป ไม่ได้ทำให้อ้วนอย่างเดียว แต่ยังส่งผลเสียอีกมากมายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ผิวหนังเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ทำให้เป็นสิว ทำให้แก่ก่อนวัย ทำให้เซลล์อักเสบ เซลล์ถูกทำลาย ทำให้อวัยวะต่างๆทำงานได้แย่ลง ผนังหลอดเลือดแข็งและเปราะบาง ทำให้เลือดส่งอาหารและออกซิเจนได้แย่ลง ฯลฯ  

     การกินอาหารที่มีหวานจัด หรืออาหารที่จำพวกแป้งขัดสีมากเกินไป จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น พอระดับน้ำตาลในเลือดมีมากเกินไป ร่างกายจะมีตัวควบคุม คือ "ฮอร์โมนอินซูลิน" เปลี่ยนน้ำตาลในเลือด ไปเก็บในรูปของไกลโคเจน และไขมัน (พลังงานสำรองของร่างกาย) แต่สำหรับคนทั่วๆไปที่ไม่ได้ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยๆ นั่งเป็นผักทั้งวัน ไกลโคเจนจะเต็มตลอดเวลา ดังนั้น ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลในเลือด เป็นไขมันสะสมทั่วร่างกายเลย ทำให้อ้วนขึ้นเรื่อยๆ ถ้ากินหวานมากๆไปเรื่อยๆ ตับอ่อนก็จะหมดแรง เซลล์ถูกทำลาย เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้เกิดเป็นโรคเบาหวาน และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคอ้วน ฯลฯ 

     เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดปฏิกิริยา "ไกลเคชั่น" (Glycation) คือ การที่น้ำตาลไปจับกับโปรตีน ซึ่งโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักของอวัยวะและเซลล์ต่างๆในร่างกาย ทำให้โปรตีนเปลี่ยนรูป ถูกทำลาย เซลล์บริเวณนั้นเสื่อมสภาพ - เมื่อน้ำตาลไปจับกับคอลลาเจน รวมไปถึงใยโปรตีนในผิวหนัง ส่งผลให้เกิดริ้วรอย ผิวหนังเหี่ยวย่น จุดด่างดำ ผิวหนังเกิดการอักเสบ - ทำให้ผนังหลอดเลือด มีความยืดหยุ่นน้อยลง แตกเปราะได้ง่าย ทำให้การส่งอาหารและออกซิเจนเข้าสู่กล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆลดลง แผลจะหายยาก ปลายประสาทจะถูกทำลาย - สมอง ไต และตา เป็นอวัยวะที่น้ำตาลเข้าไปได้โดยตรง ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวาน ก็จะมีแนวโน้มที่จะเซลล์สมองถูกทำลาย สมองทำงานแย่ลง ตาเกิดต้อ และอาจจะทำให้ตาบอดได้ เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดไตวายได้ - หากน้ำตาลไปจับโปรตีน DNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรม เป็นแม่พิมพ์ในการแบ่งเซลล์ จะทำให้เกิดความเสื่อมในระดับเซลล์ได้ - เพิ่มอนุมูลอิสระ (Oxidative Stress) ในร่างกาย ทำให้โครงสร้างต่างๆในร่างกายถูกทำลาย 

     แต่อย่างไรก็ตาม น้ำตาลในเลือดก็เป็นสิ่งสำคัญ เป็นพลังงานหลักของสมองและร่างกาย ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก ก็จะทำให้ไม่มีแรง จะเป็นลม หน้ามืดหมดสติ สมองทำงานได้ไม่ดี ดังนั้นเราจะต้องรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ให้อยู่ในปริมาณที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปตลอดทั้งวัน

     มาดูวิธีรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดกันครับ 
1. เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานๆทุกชนิด 
2. เลือกกินผลไม้สด แทนขนมหวาน 
3. เลือกกินคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้น้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ อาหารที่มีใยอาหารมาก 
4. ถ้าจะกินขนมหวาน ให้กินขนมหวานที่ผสมธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เช่น ลูกเดือย ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น 
5. หลี่กเลี่ยงการเติมน้ำตาลลงในอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว น้ำเชื่อม น้ำตาลที่สกัดจากข้าวโพด(corn syrup) เป็นต้น 
6. อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 15 กรัม (3 ช้อนชา) 
7. ให้เวลาร่างกายในการปรับตัว ทำให้ลิ้นและสมองปรับสภาพ ลดการติดหวาน โดยการค่อยๆลดหวานอย่างสม่ำเสมอ 8. ขยับร่างกายให้มากขึ้น และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ

หวังว่าจะกลัวการกินหวาน กลัวการทำลายตัวเองกันบ้างนะครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต
#ProArgi9Plus
#Chlorophyll_Plus



โรคความดันโลหิต

โรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง ถือว่า เป็นโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะนะครับ เรียกได้ว่า ในคนวัย 40 ปีขึ้นไป แทบจะพบโรคนี้ 5 ใน 10 คนเลย
แต่ว่าจะมีใครรู้บ้างว่า ความดันโลหิตสูงส่งผลต่ออวัยวะในร่างกายเราอย่างไร ? 
ความดันโลหิตสูงเกิดจาก เส้นเลือดต่างๆในร่างกาย สูญเสียความยืดหยุ่นเนื่องจาก มีไขมันมาเกาะ ในเส้นเลือด และทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาตัวขึ้น และ ทางเดินของเลือดตีบเล็กลง
ระยะเวลาที่เป็นความดันโลหิตสูง จนเกิดผลร้ายดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับระดับความดันโลหิต เช่น ระดับอ่อน และปานกลาง จะใช้เวลานานมากกว่า10 ปี ระดับรุนแรงจะใช้เวลาสั้นกว่านี้ โดยจะส่งผลต่ออวัยวะดังนี้
1.หัวใจ
ความดันโลหิตสูง จะมีผลต่อหัวใจ2ทาง คือ ทำใหักล้ามเนื้อหัวใจโต / และหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด
2.ไต
ความดันโลหิตสูงก็มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต เช่นเดียวกับหลอดเลือดหัวใจ คือ เส้นเลือดหนาตัวขึ้น เส้นเลือดในไตตีบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่พอ มีผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง
3.ตา
ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอตา หลอดเลือดเล็กๆ ที่จอตาอุดตัน หรือ ทำให้จอตาหลุดลอกออกได้
4.สมอง
ความดันโลหิตสูง มีผลต่อสมอง 2อย่างคือ เส้นเลือดตีบ และ เส้นเลือดในสมองแตก ซึ่ง ทั้ง 2 อย่างนี้ทำให้เกิดผลต่อร่างกายคือ อัมพฤกษ์ อัมพาตได้
5.หลอดเลือด
ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณแขนขาและอวัยวะภายในลดลง เช่น เส้นเลือดที่ขาตีบ
ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงพบได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ดังนั้นเราควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปรกติมากที่สุดเพื่อไม่ให้มีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวนะครับ 

ด้วยความปรารถนาดีจาก 
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต