ยาโรคหัวใจ กับข้อควรระวัง
ยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจมีหลายประเภท ขึ้นกับปัญหาและอาการของคนไข้โรคหัวใจนั้น การใช้ยาโรคหัวใจไม่ถูกต้อง จะต้องอาศัยความรู้ในเรื่องโรคหัวใจพอสมควร จะต้องติดตามเฝ้าดูการใช้ยาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในระยะแรก และจะต้องหยุดยาทันทีที่เกิดพิษจากยาหรือสงสัยว่าจะเกิดพิษจากยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถไปโรงพยาบาลได้ ควรจะให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องเสียก่อน จึงจะให้ยาได้ถูกต้องยิ่งขึ้น
แม้ว่าโรคหัวใจจะมีหลายแบบหลายอย่าง แต่ปัญหาหรืออาการที่ทำให้คนไข้โรคหัวใจไม่สบายอาจจะแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายแก่การเข้าใจ ก็จะขอกล่าวถึงยารักษาโรคหัวใจตามกลุ่มอาการดังกล่าว
1. กลุ่มที่มีอาการเหนื่อยหอบ และ/หรือบวม
คนไข้ที่มีอาการเหนื่อยหอบและบวมพร้อมกันหรือต่อเนื่องกัน เกือบทั้งหมดจะอยู่ในภาวะหัวใจทำงานไม่ไหว (ภาวะหัวใจล้ม หรือ ภาวะ หัวใจวาย) ทำให้เลือดไปคั่งในปอดจึงหอบเหนื่อย และเลือดคั่งในส่วนอื่นของร่างกายโดยเฉพาะส่วนล่าง เช่น เท้า ขา จึงบวมที่เท้าและขา แต่ถ้าคนไข้หอบหรือเหนื่อยโดยไม่บวม อาจจะเกิดจากหัวใจหรืออวัยวะอื่นก็ได้ เช่น ปอด (โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ เป็นต้น) สมอง (โรคจิต โรคประสาท โรคสมองอักเสบ เป็นต้น) หรือถ้าคนไข้บวม โดยไม่หอบหรือเหนื่อย อาจจะเกิดจากหัวใจหรืออวัยวะอื่นก็ได้ เช่น ไต (โรคไตอักเสบ โรคไตเรื้อรัง), ตับ (โรคตับแข็ง โรค ตับเรื้อรัง), หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง (อักเสบหรืออุดตัน เป็นต้น)
ดังนั้น ถ้าคนไข้หอบเหนื่อย หรือบวมเพียงอย่างหนึ่งอย่างเดียว จะไปทึกทักหรือคิดว่าเป็นโรคหัวใจไม่ได้ และแม้ว่าคนไข้จะหอบเหนื่อยและบวมพร้อมๆ กัน คนไข้ก็อาจจะไม่ได้เป็นโรคหัวใจก็ได้ แต่คนไข้จะอยู่ในภาวะหัวใจทำงานไม่ไหว ซึ่งอาจจะเกิดจากโรคเลือด (เช่น ซีดมากๆ), โรคไต (ที่เป็นรุนแรงจนซีด หรือความดันเลือดสูง), โรคขาดอาหารอย่างรุนแรง ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไข้หอบเหนื่อยและบวม ยาที่ใช้ในภาวะนี้จะคล้ายกันไม่ว่าจะเป็นจากโรคอะไร ยาที่ใช้ คือ
1.1 ยาขับปัสสาวะ เช่น ยาฮัยโดรคลอโรไธอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาฟูโรเซไมด์ (Furosemide)
1.2 ยาประเภทดิจิตาลิส (Digitalis)
ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วยยาหลายชนิด ซึ่งที่นิยมใช้กันบ่อยมากที่สุดได้แก่ ดิจ๊อกซิน (Digoxin) นอกจากนี้ตัวอื่นที่มีใช้อยู่ที่สำคัญได้แก่ ดิจิต๊อกซิน (Digitoxin) และลานาโตไซด์ (Lanatoside)
ยาประเภทนี้ทั้งหมดมีผลโดยตรงต่อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหดตัวแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลให้หัวใจสามารถผลักดันเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น อาการที่เกิดจากภาวะหัวใจทำงานไม่ไหว เช่นอาการหอบ เหนื่อยและบวม จึงดีขึ้น ยานี้ทำให้หัวใจเต้นช้าลงด้วย แต่ในคนปกติหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่แล้ว ยานี้จึงไม่ทำให้หัวใจทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดพิษได้อีกด้วย ส่วนในคนที่เกิดภาวะหัวใจล้มหรือหัวใจวายนั้น กล้ามเนื้อหัวใจสามารถจะตอบสนองต่อยาจนบีบเลือดออกจากหัวใจได้มากขึ้น ทำให้การคั่งของเลือดในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ลดลง ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น อาการบวมลดลง
เนื่องจากยานี้มักจะถูกเรียกกันทั่วๆ ไปว่าเป็น ‘‘ยาบำรุงหัวใจ” ซึ่งที่จริงแล้ว ยานี้ไม่ได้ไปบำรุงหัวใจ แต่ไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานมากขึ้น การที่เรียกว่า ‘‘ยาบำรุงหัวใจ” ก็เพราะเรียกกันอย่างนั้นมานาน ทำให้มีการนำยานี้ไปใช้บำรุงหัวใจ
ขอเน้นว่าห้ามใช้ยานี้ในคนที่หัวใจปกติเด็ดขาด และเนื่องจากยามีพิษสูงมาก จึงไม่ควรใช้ยานี้โดยไม่จำเป็น แม้แต่ในสถาบันการแพทย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจ เเละเครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยครบครันก็ยังมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากพิษของยาตัวนี้ปีละไม่น้อย
คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของยาในกลุ่มนี้ต่างกันเล็กน้อย แต่ก็มีความสำคัญที่จะต้องทราบคือ
ยาดิจ๊อกซิน (Digoxin) ดูดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร แต่การดูดซึมอาจแตกต่างกันได้ในผู้ป่วยแต่ละราย ยาถูกขับถ่ายออกทางไตในสภาพที่ยังออกฤทธิ์ได้เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในผู้ป่วยโรคไต และในเด็กหรือคนแก่ จะต้องลดขนาดยาลง
ยาดิจิต๊อกซิน (Digitoxin) ดูดซึมได้ดีมาก ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ยาดิจิติ๊อกซินจะถูกทำลายโดยตับเป็นส่วนใหญ่และจะถูกขับถ่ายออกทางไตในสภาพหมดฤทธิ์แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนขนาดยาเหมือนติจ๊อกซิน นอกจากนี้ยายังอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานกว่าดิจ๊อกซินมากกล่าวคือ ถ้าให้ยาเพียงครั้งเดียว ระดับยาดิจิต๊อกซินจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของระดับเดิมในเวลา 5-7 วัน ส่วนดิจ๊อกซินในเวลา 36 ชั่วโมง ซึ่งคุณสมบัติอันนี้ทำให้การใช้ยา ดิจ๊อกซิน แตกต่างจากดิจิต๊อกซิน ในแง่ของขนาดและวิธีใช้
ส่วนลานาโตไซด์ (Lanatoxide) มีการดูดซึมจากกระเพาะสำไส้ไม่ดีฤทธิ์จะไวและสั้นกว่าดิจ๊อกซิน (Digoxin) จึงไม่เหมาะสำหรับใช้กิน ปกติมักจะใช้ในรูปของยาฉีด เพื่อหวังผลการออกฤทธิ์ที่เร็ว
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
ยานี้จัดได้ว่าเป็นยาที่มีพิษมากที่สุดตัวหนึ่งในบรรดายาที่ใช้รักษากันทั่วๆ ไป อาการพิษจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยานี้เกินขนาด ซึ่งพิษที่ร้ายแรงที่สุดและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้คือพิษต่อหัวใจ เพราะยานี้ในขนาดสูงจะมีผลทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและทำงานอ่อนลง ปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญในอาการพิษแบบนี้คือ บางครั้งจะวินิจฉัยไม่ได้โดยแน่นอนว่าอาการของผู้ป่วยที่หนักลงนั้นเป็นเพราะยาที่ให้ไม่เพียงพอ หรือยาที่ให้มากเกินไป แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เกิดพิษจากยานี้จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หอบเหนื่อยมากขึ้น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร หรือตาเห็นสีขาวจ้าเป็นสีอื่น และชีพจรอาจจะเต้นช้าลงอย่างมาก ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อยมากขึ้น ชีพจรเต้นช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที หรือเต้นผิดจังหวะ หรือตาเห็นสีขาวจ้าเป็นสีอื่น ก็ให้หยุดยาทันที อาการพิษมักจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในภาวะที่มีโปตัสเซี่ยมในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยกินส้ม กินกล้วยให้มากๆ และในกรณีที่ได้ยาขับปัสสาวะที่ทำให้ร่างกายเสีย โปตัสเซียม ควรให้ยาโปตัสเซียมร่วมด้วย
รูปของยา
ดิจ๊อกซิน (Digoxin) ชื่อการค้าเช่น ลาน๊อกซิน (Lanoxin) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.25 มิลลิกรัม (มีเม็ดขนาดเล็กกว่านี้ด้วย) ชนิดน้ำ 0.05 มิลลิกรัม/1มิลลิลิตร และยาฉีด 0.5 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ดิจิต๊อกซิน (Digitoxin) ชื่อการค้าเช่น คริสโตดิจิน (Crystodigin) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.1 มิลลิกรัม
ลานาโตไซด์ (Lanatoxide) ชื่อการค้าเช่น เซดิแลนิด (Cedilanid) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.25 มิลลิกรัม (ไม่ควรใช้) และชนิดฉีด 0.8 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ขนาดและวิธีใช้
ในคนที่มีภาวะหัวใจล้ม หรือหัวใจวาย ส่วนใหญ่จะใช้ยาดิจ๊อกซิน ประมาณวันละ 1 เม็ดเป็นประจำ จะกินตอนไหนก็ได้ การใช้ยาประเภทนี้จะต้องระวังเรื่องพิษจากยาเสมอ เพราะคนบางคนอาจจะกินยาวันละ 1 เม็ดได้ บางคนกินเพียงวันละครึ่งเม็ดก็เกิดพิษแล้ว แต่บางคนก็ต้องกินถึงวันละ 2 เม็ด จึงจะคุมอาการทางหัวใจได้ ในกรณีที่ต้องกินวันละ 2 เม็ด ควรให้กินหลังอาหารเช้า และกลางวัน
ข้อควรระวัง
ถ้าใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะจะต้องกินส้ม และหรือกล้วยวันละหลายๆ ผล และอาจต้องกินยาโปตัสเซี่ยมร่วมด้วย
2. กลุ่มที่มีอาการใจเต้น ใจสั่น
คนไข้ส่วนใหญ่ ที่มีอาการใจเต้นใจสั่นมักจะไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แต่เป็นภาวะใจเต้นใจสั่นตามปกติ นั่นคือ คนปกติทุกคน เวลาออกกำลังหนักๆ เวลาโกรธ ตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือมีอารมณ์รุนแรง หัวใจจะเต้นเร็ว และ/ หรือแรง จนอาจจะรู้สึกได้อย่างสบาย ถ้าหัวใจของคนใดไม่เต้นเร็วหรือแรงในสภาวะดังกล่าว หัวใจของคนๆ นั้นก็น่าจะผิดปกติ
ดังนั้นเวลารู้สึกใจเต้นใจสั่น ให้ดูเสียก่อนว่า เกิดสภาวะดังกล่าวนำมาก่อนหรือเปล่า ซึ่งบางครั้งก็อาจลืมไป เพราะเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ ตกใจ ตื่นเต้น ฯลฯ ได้ผ่านไปนานพอสมควรแล้ว แต่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจ พอนั่งหรือนอนอยู่ว่างๆ มันก็หวนกลับขึ้นมาและทำให้ใจเต้นใจสั่นได้
คนที่หัวใจเต้นผิดปกติเพราะโรคหัวใจ ส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกว่า หัวใจของตนเต้นผิดปกติ ดังนั้นคนที่รู้สึกว่าหัวใจของตนเต้นผิดปกติ ส่วนใหญ่มักจะมีหัวใจปกติ
เนื่องจากการวินิจฉัยชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติ ให้แน่นอนทำได้ลำบาก และอาจจะต้องอาศัยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (อี.ซี.จี.) ด้วย นอกจากนี้ กลไกที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันชัดเจน จึงขอพูดถึงความผิดปกติที่พบได้บ่อย และวิธีรักษาโดยสังเขปเท่านั้น ส่วนรายละเอียดเรื่องยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกตินั้นไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้ เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก
ในแง่ของการรักษานั้นแม้ว่าหัวใจของผู้ป่วยจะเต้นผิดปกติ แต่ถ้าผู้ป่ วยไม่มีอาการที่เนื่องมาจากหัวใจเต้นผิดปกตินั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องให้ยารักษาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติทุกตัวมีพิษมาก อาจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือล้ม หรือทำให้หัวใจเต้นผิดปกติมากขึ้นได้
การที่จะรู้ว่าหัวใจเต้นผิดปกติจริงหรือไม่ ให้ลองจับชีพจรดูก่อน เช่น
ก. ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ ก็แสดงว่าหัวใจเต้นผิดปกติ แต่อาจจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ก็ได้ เพราะคนปกติบางคนก็มีหัวใจที่เต้นไม่สม่ำ
เสมอได้ เช่น
2.1 หัวใจเต้นช้าบ้างเร็วบ้างตามการหายใจ โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าออกยาวๆ นับว่าเป็นสิ่งปกติ ไม่ต้องรักษา
2.2 หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติเป็นบางตุ้บ ทำให้รู้สึกว่าชีพจรมาเร็วกว่าปกติ หรือหายวาบไปเป็นบางตุ้บ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการหอบเหนื่อย บวม หรือเจ็บหน้าอก ไม่ต้องรักษา หรือถ้าจะรักษาก็ใช้ยากล่อมประสาท เช่น ยาไดอะซีแพม ก็เพียงพอแล้ว ถ้าผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย บวม หรือ เจ็บหน้าอก ก็ให้รักษาสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้เกิดอาการเช่นนั้น และอาจใช้ยาบางอย่าง เช่น ซัยโลเคน (Xy- locaine) ควินนีดีน (Ouinidine) นอร์เพส (Norpace) แต่ก่อนจะใช้ยาพวกนี้ ควรจะแน่ใจว่าผู้ป่วยมีหัวใจเต้นผิดปกติจนทำให้เกิดอาการซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มิฉะนั้นยาเหล่านี้จะเป็นพิษต่อหัวใจ ถ้าไม่แน่ใจอย่าใช้ดีกว่า
2.3 หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอโดยตลอด นั่นคือ ถ้าจับชีพจร หรือฟังเสียงหัวใจ จะพบว่า ชีพจร และเสียงหัวใจจะถี่บ้าง ห่างบ้าง แรงบ้าง ค่อยบ้าง ไม่สมํ่าเสมอกันแม้แต่ตัวที่เต้นมาติดๆ กัน ลักษณะหัวใจเต้นผิดปกติแบบนี้เกือบทั้งหมดจะพบในคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่ ไม่ว่าโรคหัวใจนั้นจะเกิดขึ้นที่หัวใจโดยตรง หรือสืบเนื่องมาจากโรคอื่น
ในกรณีนี้ ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ควรจะให้ยาดิจ๊อกซิน (Digoxin) วันละ1-2 เม็ด จนหัวใจเต้นช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาที แล้วจึงลดลงเหลือ วันละ ½-1 เม็ด หรือเพียงพอที่จะคุมให้หัวใจเต้นอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที โดยไม่เกิดพิษจากยา
ไม่จำเป็นต้องรักษาถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการอะไรเลย และชีพจรที่เต้นไม่สม่ำเสมอนั้นเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญและหัวใจเต้นช้ากว่า 100 ครั้งต่อนาที (ต้องใช้เสียงหัวใจเต้น ไม่ใช้ชีพจร เพราะในกรณีนี้ หัวใจอาจจะเต้นมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที แต่คลำชีพจรได้ต่ำกว่า 100 ครั้งต่อนาที)
ข. ชีพจรเต้นสม่ำเสมอ ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที ก็ถือว่าหัวใจเต้นปกติ
2.4 แต่ถ้าชีพจรเต้นสม่ำเสมอแต่ช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที ก็เรียกกันว่า หัวใจเต้นช้า (คนที่มีรูปร่างใหญ่ เช่น นักกีฬา หัวใจมักจะเต้นช้า อาจะช้าลงถึง 40 ครั้งต่อนาที) การที่หัวใจเต้นช้าจึงไม่ใช่สิ่งผิดปกติ นอกจากจะมีอาการหน้ามืด เป็นลม เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หรือหมดสติด้วย จึงจะถือว่าผิดปกติ ที่จำเป็นต้องรักษา การใช้ยาในกรณีที่หัวใจเต้นช้า ไม่ว่าจะเต้นสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอ และเกิดมีอาการ ก็คือการใช้ยาที่จะไปกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น เช่น
1. อีฟีดรีน (Ephedrine) ที่ใช้แก้อาการหอบหืดจะช่วยกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วได้ อย่างกินมีขนาดเม็ดละ 30 มิลลิกรัม และ 60 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ด ทุก 3-6 ชั่วโมง จนหัวใจเต้นเร็วพอที่จะไม่มีอาการหน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลีย แต่ไม่มากเกินไปจนเกิดอาการใจสั่น ปวดศีรษะ หรือนอนไม่หลับ
2. ทิงเจอร์เบลลาดอนนา (Tincture of Bella- donna) ที่ใช้แก้อาการท้องเดิน ปวดท้อง จะช่วยกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วได้ ใช้กินครั้งละ 10-30 หยด 1-2 มิลลิลิตร) ทุก 3-6 ชั่วโมง จนหัวใจเต้นเร็ว พอที่จะไม่มีอาการหน้ามืดเป็นลม อ่อนเพลีย แต่ไม่มากเกินไปจนเกิดอาการท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก หรือใจสั่น (ยานี้ขององค์การเภสัชกรรม ขวดหนึ่งมี 450 มิลลิลิตร)
3. ไอโสโปรเตอรีนอล (Isoproterenol) จะใช้แก้อาการหอบหืด หรือใช้กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วก็ได้ เเบบอมใต้ลิ้น มีขายในชื่อการค้าว่า ไอสูเพร็ล กลอสเส็ท (Isuprel glosset) หรือ ไอสูเพร็ล สับลิงกลอล (Isuprel sublingual) เม็ดละ 10 มิลลิกรัม หรือจะใช้แบบพ่นแก้อาการหอบหืด มาพ่นเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นก็ได้
4. อะดรีนาลีน (Adrenalin) จะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ต้องใช้ฉีดประมาณ 0.3 มิลลิลิตร เข้าใต้ผิวหนัง เช่นเดียวกับการฉีดแก้อาการหอบหืด
5. อะโทรปีน (Atropine) จะกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องใช้ฉีด และผลไม่แน่นอนเท่าแอดรีนาลีน หรือ อีฟิดรีน อย่างฉีด
2.5 ถ้าชีพจรเต้นสม่ำเสมอแต่เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที ก็เรียกกันว่า หัวใจเต้นเร็ว (คนที่มีรูปร่างเล็ก เช่น เด็ก ยิ่งเล็ก (เป็นทารก) หัวใจยิ่งเต้นเร็ว อาจจะเต้นถึงนาทีละ 110-120 ครั้ง ในภาวะปกติ) นอกจากนั้นคนที่ออกกำลัง หรือตื่นเต้น โกรธ กลัว ตกใจ หรือมีอารมณ์รุนแรงอื่นๆ ก็จะมีหัวใจเต้นเร็วได้ซึ่งถือว่าเป็นปกติ ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที จะถือว่าผิดปกติ เมื่อมันเป็นเช่นนั้น ตลอดเวลาแม้แต่ในขณะหลับ หรือเมื่อมันทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย บวม หรือไม่สบาย ซึ่งในกรณีเช่นนี้จึงจะต้องทำการรักษา คือ
หัวใจเต้นระหว่าง 100-160 ครั้งต่อนาที อัตราเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น นาทีนี้จับชีพจรได้ 140 ครั้งต่อนาที อีก 2-3 นาที จับชีพจรใหม่ได้ 120 ครั้งต่อนาที หรือชีพจรในท่านั่ง ท่านอน และท่ายืน จะต่างกัน เป็นต้น เวลาที่คนไข้ มีอาการใจเต้นใจสั่น อาการใจเต้นใจสั่นจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น หรือค่อยๆ หาย ลักษณะการเต้นของหัวใจแบบนี้ เรียกว่า หัวใจเต้นเร็วแบบธรรมดา (sinus tachycardia) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความเคร่งเครียด กังวล การออกกำลัง และอารมณ์รุนแรงต่างๆ ส่วนน้อยเกิดจากการมีไข้สูง ภาวะคอพอกเป็นพิษ ภาวะหัวใจทำงานเพิ่มขึ้นและอื่นๆ
การรักษา
1. ให้พักกายและใจ เช่น นั่งพัก สงบสติอารมณ์ หายใจเข้าออกยาวๆ และเพ่งจิตไปที่การหายใจ คือ หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก หรือเวลาหายใจเข้าให้นับ 1 ถึง 10 เป็นต้น
2. ให้ยากล่อมประสาท เช่น ไดอะซีแพม
3. หาสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแก้สาเหตุเสีย
4. การใช้ยาหัวใจในกรณีเช่นนี้ จะมีอันตรายได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าหัวใจไม่ได้เต้นเร็วจากโรคหัวใจ
การป้องกัน
1. ให้บริหารกายและจิตเป็นประจำ
2. ให้รักษาสาเหตุถ้ารักษาได้
หัวใจเต้นมากกว่า 160 ครั้งต่อนาที และไม่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ เช่น นาทีนี้จับชีพจรได้ 180 ครั้งต่อนาที อีก 2-3 นาที ก็จับชีพจรได้เท่าเดิม จะนอน นั่ง ยืน ก็จับชีพจรได้เท่ากัน เวลาเป็นจะเป็นทันที เวลาหายก็หายทันที ไม่ค่อยๆ เป็นมากขึ้น และไม่ค่อยๆ หาย ลักษณะการเต้นของหัวใจแบบนี้ เรียกว่า หัวใจห้องบนเต้นเร็วเป็นพักๆ (paro¬xysmal atrial tachycardia) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดเพราะคนบางคนมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น แล้วไปประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง เช่น ทำงานหนักเกินไป อดหลับอดนอน เคร่งเครียด สูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ชา กาแฟ เป็นต้น จึงเกิดอาการ “หัวใจห้องบนเต้นเร็ว” ขึ้น
การรักษา
1. ให้นั่งพัก
2. กลั้นหายใจแล้วเบ่ง โดยสูดหายใจเข้าให้เต็มปอด กลั้นหายใจ แล้วเบ่งเหมือนกับเวลาเบ่งอุจจาระ เมื่อท้องผูก จะต้องเบ่งจนหน้าแดงและจนเบ่งต่อไปไม่ไหว แล้วจึงจะหายใจออกและหายใจเข้าใหม่ได้ ถ้าทำครั้งแรกไม่ได้ผล ให้ลองทำซ้ำใหม่อีก 2-3 ครั้ง อาจจะทำให้หัวใจกลับเต้นเป็นปกติได้
3. จุ่มศีรษะลงในอ่างน้ำแช่น้ำแข็ง แล้วกลั้นหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติได้
4. การใช้ยา ส่วนมากยาที่ใช้ที่จะหยุดภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วนี้ มักจะต้องเป็นยาฉีด เช่น ไอซ๊อบติน (Isoptin) ดิจ๊อกซิน (Digoxin)
วาซ๊อกซิล (Vasoxyl) ซึ่งการใช้จะต้องระวังมาก
การป้องกัน
คนที่ชอบเป็นภาวะนี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงชนวนต่างๆ ที่จะทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น เช่น การอดหลับอดนอน การออกกำลังมากเกินไป การดื่มสุรา ชา กาแฟ การสูบบุหรี่ การเคร่งเครียด กังวล หรือมีอารมณ์รุนแรงเกินไป เป็นต้น
3. กลุ่มที่มีอาการเจ็บหรือแน่นในอก
เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่อาการเจ็บแน่นในหน้าอกในคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการเจ็บหัวใจ แต่เป็นการเจ็บที่ผนังอก การแน่นท้อง
การแน่นอกจากการเรอเปรี้ยว การเจ็บในปอดหรือช่องปอด หรืออื่นๆ
อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะมีลักษณะ
1. เจ็บตรงกลางหน้าอก ตรงหน้าอกส่วนล่าง หรือทางด้านซ้ายต่อหน้าอกส่วนล่าง อาจจะเจ็บหรือแน่นไปที่คอ ไหล่ แขน และหลังได้
2. เจ็บเวลาออกกำลัง หรือ หลังจากออกกำลัง เช่น ยกของหนัก ขุดดิน เบ่งอุจจาระ กินข้าว โดยเฉพาะถ้ากินอิ่มจนเกินไป อาบน้ำโดยเฉพาะถ้าอาบน้ำเย็นจัด หรือถูตัวแรงเกินไป เป็นต้น
3. เจ็บเวลาเครียดมาก เช่น เวลาโกรธ ตื่นเต้น ตกใจ ห่วงกังวล รีบร้อน สูบบุหรี่จัด กินของเย็นจัด เป็นต้น
4. ลักษณะของอาการเจ็บ อาจจะเป็นแบบแน่น แบบมีอะไรมาบีบรัดมากดทับ หรืออาจจะรู้สึกเจ็บแสบ ปวด จุก หรือมีลักษณะแบบแน่นจนหายใจไม่ออก หรือจุกแน่นในคอ หรือปวดเมื่อยมาที่ไหล่ที่แขน จนยกแขนไม่ขึ้น หรือใช้แขนไม่สะดวกก็ได้
5. ถ้าเป็นน้อย จะเจ็บอยู่ประมาณ 1- 2 นาทีก็หาย ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บอยู่เป็นชั่วโมงร่วมด้วยอาการซีด มือเท้าเย็น เหงื่อออกท่วมตัว หอบเหนื่อย หรือหมดสติได้
6. อาการมักจะดีขึ้นเมื่อนั่งพัก หรือเมื่ออมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ใต้ลิ้น แต่ถ้าเป็นมาก อาจจะต้องฉีดยาแก้ปวดพวกมอร์ฟีน จึงจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อ่านลักษณะอาการเหล่านี้บ่อยๆ จนจำได้ อาจเกิดอุปาทานคิดไปว่า ตนเองกำลังเจ็บหัวใจ และมีลักษณะอาการเจ็บเหมือนอาการเจ็บหัวใจทุกประการทั้งที่อาการเจ็บหน้าอกของตนนั้นไม่ได้เกิดจากหัวใจเลย
อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่น่าจะใช่อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ เช่น อาการเจ็บแน่นในหน้าอกด้านขวาอาการเจ็บจี๊ดๆ แปล๊บๆ เหมือนถูกเข็มแทง อาการเจ็บที่ต้องกลั้นหายใจหรือหายใจเบาๆ อาการเจ็บคงอยู่เป็นชั่วโมงหรือเป็นวันโดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น หอบเหนื่อยบวม มือเท้าเย็น เหงื่อแตกท่วมตัว เป็นต้น อาการเจ็บหน้าอกที่เอามือกดหรือแตะบริเวณนั้นแล้วเจ็บมากขึ้น อาการเจ็บหน้าอกที่เอามือกดหรือนวดบริเวณนั้นแล้วอาการเจ็บหายไป อาการเจ็บหน้าอกที่ในขณะเจ็บก็ยังทำการทำงานได้ตามปกติ เป็นต้น
ยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจแบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
1. ยาพวกไนไตรท์ (Nitrites) และไนเตรท (Ni¬nes) ที่ใช้บ่อยได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) ไอโสซอร์ไบด์ (Isosorbide) ชื่อการค้าเช่น ไอซอร์ดิล (Isordil) ยาเพนตะอิริไทรตอล (Pentaerythritol) ชื่อการค้าเช่น เพอริเตรท (Peritrate)
2. ยาปิดกั้นเบต้า (Beta-adrenergic blocker)
ยาไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin)
ยาตัวนี้มีคุณสมบัติทำให้กล้ามเนื้อเรียบทั่วร่างกายหย่อนตัว หลอดเลือดก็มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกล้ามเนื้อเรียบจึงขยายตัวหลอดเลือดหัวใจ (coronary blood vessels) ก็ขยายตัวเช่นเดียวกัน แต่ผลที่นำไปใช้รักษาภาวะหัวใจขาดเลือดคือ ยานี้จะไปลดการใช้พลังงานของหัวใจ ทำให้หัวใจต้องการอ๊อกซิเจน (เลือดไปเลี้ยง) น้อยลง อาการเจ็บหน้าอกซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจึงหายไปได้
ยาตัวนี้ถูกดูดซึมได้เร็วถ้าให้อมไว้ใต้ลิ้น การดูดซึมจากทางเดินอาหารก็รวดเร็ว แต่เนื่องจากตับจะทำลายยาให้หมดฤทธิ์ไปอย่างรวดเร็วทันทีที่ยาดูดซึมจากทางเดินอาหาร จึงห้ามใช้กิน ให้ใช้อมไว้ใต้ลิ้นเสมอ
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
อาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ มักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากฤทธิ์ของยาต่อระบบไหลเวียนเลือด เช่น อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ความดันเลือดตํ่า (ความดันเลือดอาจตํ่าลงอย่างรวดเร็วเวลาเปลี่ยนอิริยาบท (postural hypotension) ทำให้หน้ามืดเป็นลมเวลาเปลี่ยนอิริยาบทจากนอนเป็นยืนได้) นอกจากนี้ยังมีอาการที่เกิดจากแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ลิ้นเป็นแผล (ตรงบริเวณที่อมยา)
รูปของยา
ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerine) ชนิดเม็ดๆ ละ 0.6 มิลลิกรัม ชนิดขี้ผึ้งไนตรอล (ointment Ni- trol) ประกอบด้วยไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) 2%
ขนาดและวิธีใช้
ในขณะที่เจ็บหน้าอกให้นั่งพัก แล้วอมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ใต้ลิ้นสัก 1 เม็ด เมื่อยาละลายจะรู้สึกเผ็ดใต้ลิ้น ร้อนที่หน้า หรือปวดหัว มึนหัวเล็ก น้อย และอาการเจ็บหน้าอกจะหายไป ถ้าไม่ดีขึ้น อาจอมซ้ำอีก 1-2 เม็ด ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีกผู้ป่วยควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล และระหว่างส่งต่ออาจให้มอร์ฟีน (Morphine) ขนาด 1/6 เกรน (gr 1/6 ) เข้ากล้ามได้
ไอซอร์ดิลและเพอริเตรท
พวกยาขยายหลอดเลือด เช่น ไอซอร์ดิล (Isor¬dil) และเพอร์ริเตรท (Peritrate) ความจริงก็เป็นสารประเภทที่คล้ายคลึงกับไนโตรกลีเซอรีน แต่อยู่ในรูปของเกลือ (organic nitrates) เพื่อให้ใช้กินทางปากได้ และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ยาวนานขึ้น โดยทั่วไปจะใช้ยาเหล่านี้ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยๆ ในแง่สำหรับเป็นการป้องกันอาการ แต่ผลในการรักษาไม่แน่นอน อาจได้ผลดีในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น
ฤทธิ์และอาการที่ไม่พึงประสงค์
คล้ายคลึงกับยาไนโตรกลีเซอรีน
รูปของยา
ไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรท (Isosorbide dini¬trate) ชื่อการค้าเช่น ไอซอดิล (Isordil) ชนิดเม็ดๆ ละ 10 มิลลิกรัม ยาเม็ดอมใต้ลิ้น 5 มิลลิกรัม
ขนาดและวิธีใช้
ยาเม็ดใช้กิน ขนาด 5-30 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร และก่อนนอน
ยาอมใต้ลิ้น 1-2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง
หมายเหตุ
ในรูปที่ออกฤทธิ์ยาวนานไม่แนะนำให้ใช้เพราะผลการดูดซึมไม่แน่นอนและอาจมีพิษได้ง่ายกว่าในรูปอื่น
เพนตาอีริไทรตอล เตตราไนเตรท (Pentaerythritol tetranitrate)
ชื่อการค้า เช่น เพอริเตรท (Peritrate) เม็ด 10 มิลลิกรัม
ขนาดและวิธีใช้
ใช้ 1-2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน
หมายเหตุ
ในรูปของยาที่ออกฤทธิ์ยาวนานไม่แนะนำให้ใช้
ยาปิดกั้นเบต้า (Beta-adrenergic Blocker)
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยๆ อาจใช้ยาปิดกั้นเบต้าช่วยลดการทำงานของหัวใจให้น้อยลง ซึ่งผลที่ได้ตามมาคือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกน้อยครั้งลง ยานี้ไม่ควรใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ใช้ในแง่สำหรับป้องกันเท่านั้น
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงจากสาเหตุหรือปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
2. ถ้าเป็นโรคนี้แล้ว ให้ยาไนโตรกลีเซอรีนติดตัวไว้เสมอและให้อมยานี้ทันทีเมื่อมีอาการ
4. กลุ่มที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมหรือหมดสติ
ซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือเกิดจากโรคหัวใจที่มีการอุดกั้นทางเดินของเลือดห้องหัวใจ หรือในหลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ แต่อาการหน้ามืดเป็นลม หรือหมดสติส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากหัวใจ แต่เกิดจากความอ่อนแอ ความอ่อนเพลีย การอดหลับอดนอน การอดอาหาร การเคร่งเครียดกังวล โรคประสาท โรคลมชัก และอื่นๆ
การจะรู้ว่าภาวะเป็นลม หน้ามืด หมดสติ เกิดจากหัวใจได้จะต้องตรวจพบว่าหัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีภาวะหัวใจโต หรือเสียงหัวใจผิดปกติหรือมือเท้าริมฝีปากเขียวคล้ำในขณะเป็นลมหมดสติ
ถ้าพบเช่นนั้น ควรจะแนะนำให้ไปหาหมอจะดีกว่า ถ้าไปไม่ได้จริงๆ และเกิดอาการจากหัวใจเต้นผิดปกติ ก็ให้การรักษาแบบหัวใจเต้นผิดปกติ
ถ้าเกิดอาการจากหัวใจ หรือเสียงหัวใจผิดปกติ หรือมือเท้าริมฝีปากเขียวคล้ำ ควรจะให้อ็อกซิเจน และให้พัก (นั่งยองๆ นั่งพัก หรือนอนพัก แล้วแต่ว่าคนไข้จะสบายในท่าไหน) และให้ไปหาหมอเมื่อดีขึ้นแล้ว เพราะการใช้ยาในกรณีนี้จะต้องวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไรให้แน่นอนก่อน จึงจะใช้ยาได้ถูกต้อง และไม่เป็นอันตรายจากยาได้
5 กลุ่มที่มีอาการผสมผเสกัน อาจมีอาการของกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 3 หรือตั้งแต่ 1 ถึง 4 เลยก็ได้
การรักษา
ถ้ามีอาการของกลุ่มใด ให้รักษาอาการของกลุ่มนั้น
การป้องกัน
ถ้ามีอาการของกลุ่มใด ให้ป้องกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของกลุ่มนั้น
หมายเหตุ
มียาหัวใจบางอย่างที่นิยมใช้ในหมู่หมอชาวบ้านที่ชอบฉีดยา ยาเหล่านี้ไม่ค่อยได้ประโยชน์ และอาจมีอันตรายได้ เช่น ยาโครามีน (Coramine), ยาโครามีน-อะดีโนซีน (Coramine-Adenosine), ยาโครามีน-อีฟีดีน (Coramine-Ephedrine), ยาโครามีน-คาฟเฟอีน (Coramine-Caffeine), ยาคาร์นิเก็น (Car- nigen), ยาคอร์เตนซอร์ (Cortensor), ยาคอมพลามิน (Complamin)
ยาเหล่านี้มักจะถูกใช้รักษาคนไข้ที่ชอบมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความอ่อนแอทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะความอ่อนเเอหรือความเครียดทางจิตใจ แต่คนไข้กลับถูกบอกให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจ (เช่น โรคหัวใจอ่อน โรคประสาทหัวใจ เป็นต้น) หรือ เป็นโรคความดันต่ำ (ทั้งที่ไม่มีโรคนี้อยู่ในโลก)
ความเข้าใจผิดหรือความเชื่อผิดๆ จึงทำให้มีการนำยาหัวใจพวกนี้ไปใช้กับคนไข้เหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่คนไข้โรคหัวใจเลย แต่เป็น “โรคเครียด” หรือ “โรคประสาท” หรือ “โรคอ่อนแอ” มากกว่า ซึ่งควรจะให้บริหารกายและใจ และถ้าจะใช้ยา ก็ควรจะใช้พวกยากล่อมประสาท หรือ ยาบำรุงร่างกาย (ไม่ควรใช้ยาหัวใจเป็นอันขาด)
ที่มา:รองศาสตราจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์
นายแพทย์กำพล ศรีวัฒนกุล
หากบทความนี้มีประโยชน์
รบกวนกดไลท์ กดแชร์ ด้วยครับ
และ
ถ้าไม่อยากทานยา หรือ อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ด้วยความปรารถนาดีจาก
#โค้ชเกมส์
#ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสุขภาพร่างกายด้วยสารอาหารจำเป็นคุณภาพสูง
📞 092-645-4256
📲 LINE : kp156
#เพราะหลอดเลือดคือทั้งหมดของชีวิต
#ProArgi9Plus
#Chlorophyll_Plus